วันที่ 22 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล คณะกรรมการขับเคลื่อนการสอนอาชีวศึกษาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ประเทศจีน) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และศูนย์ความร่วมมือด้านดิจิทัลไทย-จีน-ลาว ประจำมณฑลยูนนาน ร่วมจัดงานการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ “ภาษาจีน+ทักษะทางวิชาชีพ” ระหว่างไทย-จีน ประจำปี 2565 ผ่านทางออนไลน์
ในพิธีเปิดการประชุมได้รับเกียรติจาก เห่า ซูเหม่ย (Ms.Hao Shumei) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยยูนนานนอร์มอล คุณ สื่อ จงจุ้น(Mr.Shi Zhongjun) เลขาธิการศูนย์จีน-อาเซียน นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง คุณ เฝิ่ง จวินอิง (Ms.Feng Junying) ที่ปรึกษาทูตการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คุณ หวาง ยวน (Mr.Wang Yuan) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กรมศึกษาธิการมณฑลยูนนาน คุณ เจ้า เยี่ยนชิง (Mr.Zhao Yanqing) ผู้แทนศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศประจำประเทศไทย คุณ ลู่ชุนหยาง (Mr.Lu Chunyang) รองผู้อํานวยการคณะกรรมการขับเคลื่อนการสอนอาชีวศึกษาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ประเทศจีน) เข้าร่วม และกล่าวสนับสนุนในพิธีเปิดการประชุม
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านดิจิทัล เสริมสร้างเยาวชนไทย-จีนสู่อนาคตที่สดใส” ได้เรียนเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระหว่างไทย-จีนในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการอาชีวศึกษา ด้านการศึกษาภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ และวิทยาลัยในโครงการ “ภาษาจีน+ทักษะทางวิชาชีพ” เข้าร่วมเสวนาประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะทางดิจิทัลเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยมีตัวแทนวิทยาลัยไทยและจีนเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 200 แห่ง
โครงการความร่วมมือ “ภาษาจีน+ทักษะทางวิชาชีพ”ระหว่างไทย-จีน เป็นโครงการที่ดำเนินการตามสาส์นสำคัญของท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วย “การส่งเสริมและการพัฒนาอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพสูง สนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการอาชีวศึกษาระหว่างประเทศ” ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจเชิงปฏิบัติด้านการบูรณาการระหว่างการศึกษากับอุตสาหกรรมในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของศูนย์สภาพัฒนาโครงการ E-commerce Valley “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานจากผลงานทางวิชาการตลอด 20 ปี ด้านการอาชีวศึกษาอีคอมเมิร์ซของจีน บูรณาการระหว่างการเรียนภาษาจีนกับการอบรมทักษะอีคอมเมิร์ซ ผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ การแข่งขันด้านทักษะวิชาชีพ การอบรมทักษะวิชาชีพพร้อมประกาศนียบัตร การอบรมครู การวิจัยและสร้างหลักสูตรที่มีมาตรฐาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างระบบการพัฒนาด้านทักษะเชิงดิจิทัลระหว่างประเทศที่เป็นเอกฉันท์ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษาไทย-จีนในเชิงลึก การดำเนินโครงการตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิ หลักสูตรสองภาษาไทย-จีน จำนวน 5 หลักสูตร สื่อการสอนจำนวน 204 สื่อ ไมโครเลคเชอร์ 156 คาบเรียน กรณีศึกษา 79 โครงการ และโครงการแข่งขันทักษะต่างๆ เป็นต้น จากการดำเนินงานดังกล่าว ได้รับความสนใจจากบุคลากรครู และนักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยทั้งไทยและจีนจำนวน 1000 คนจาก 100 กว่าวิทยาลัย นอกจากนี้ ทางโครงการได้พัฒนาระบบแพลตฟอร์มการอบรมออนไลน์ระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดี เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันโครงการให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น
ตัวแทนวิทยาลัยที่เข้าร่วมการประชุมต่างเห็นด้วยว่า ประเด็นหัวข้อร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านทักษะเชิงดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์อนาคตที่สดใสของมนุษยชาติ วงการการศึกษาของจีนและไทยควรกระชับความร่วมมือในเชิงลึก และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและความสำคัญของทักษะดิจิทัลที่มีต่อวงการศึกษามากขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานความร่วมมือที่มีอยู่ ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นปฏิบัติได้จริง ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความต่อเนื่อง ผ่านการผลักดันและพัฒนาการบูรณาการระหว่างการศึกษากับอุตสาหกรรมในโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของศูนย์สภาพัฒนาโครงการ E-commerce Valley “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” แบบรอบด้าน โดยผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ การพัฒนาทักษะวิชาชีพ การวิจัย การสร้างหลักสูตร ความร่วมมือด้านประกาศนียบัตรวิชาชีพ การพัฒนาทรัพยากร การอบรมครู การแลกเปลี่ยนนักเรียน การแข่งขันทักษะวิชาชีพ การสร้างโอกาสการทำงาน และความร่วมมมือด้านอุตสาหกรรม รวมกว่า 10 โครงการ เพื่อตอบสนองนโยบาย “ก้าวออกไป” ของจีน ผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาลัยอาชีวศึกษาระหว่างประเทศ
ในระหว่างการประชุมได้เผยแพร่ผลงานวิชาการในโครงการความร่วมมือ “ภาษาจีน+ทักษะทางวิชาชีพ” หลากหลายโครงการ โดยมีวิทยาลัยทั้งไทย-จีนรับมอบป้ายวิทยาลัยต้นแบบ จำนวน 77 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือในการดึงดูดวิทยาลัยและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ วิทยาลัยทั้งไทยและจีนได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทย – จีน ในโครงการ “ภาษาจีน + ทักษะทางวิชาชีพ” เพื่อร่วมผลักดันและดำเนินโครงการในลำดับต่อไป ผ่านรูปแบบความร่วมมือระหว่างประเทศ หนังสือเรียนอีคอมเมิร์ซ ในโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน “ภาษาจีน+ทักษะทางวิชาชีพ” เป็นหนังสือเรียนชุดแรกของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ1+ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้ดีว่าโครงการได้ดำเนินการเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่ดี และสามารถตอบสนองบริการด้านทักษะดิจิทัลได้ดีขึ้น ยกระดับคุณค่าและช่องทางการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านทักษะดิจิทัล เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในการประชุมได้ จัดพิธีเปิดการแข่งขัน “BODAO CUP” การประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อออนไลน์สู่ตลาดจีน ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
https://www.thairath.co.th/news/local/2508275